แม้เพิ่งเข้ามาทำงานด้วยตำแหน่งกรรมการบริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 จำกัด (มหาชน) บริษัทลีสซิ่งครบวงจรอย่างเต็มตัวได้เพียง 1 ปี หลังเรียนจบปริญญาโทด้านบริหารจากมหาวิทยาลัยวาเซดะ ประเทศญี่ปุ่น และไปทำงานในบริษัทอื่นเพื่อเรียนรู้ประสบการณ์ แต่ “ธิดา แก้วบุตตา“ สาววัย 32 ปี กำลังเป็นหนึ่งในทีมขับเคลื่อนหลัก ที่จะทำให้บริษัทศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ฯเป็นที่รู้จักทั้งในหมู่นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ไปจนถึงลูกค้าชาวบ้านที่ต้องการเงินด่วนทันใจ
เพราะบทบาทของเธอในทีมบริหารคือการพบนักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศดูแลการออกหุ้นกู้และช่วยตรวจงานตามสาขาต่างๆ ขณะที่พี่สาว “ดวงใจ แก้วบุตตา” นั่งแท่นกรรมการบริหาร คุมงานภาพรวมของบริษัท ทั้งสองคนรับไม้ต่อจาก ฉัตรชัย แก้วบุตตา บิดา ผู้ปลุกปั้นบริษัทนี้มากับมือ
เธอเล่าย้อนให้ฟังว่า เมื่อปี 2522 ครอบครัวแก้วบุตตาเป็นเอเยนต์ขายรถมอเตอร์ไซค์ฮอนด้าที่ จ.เพชรบูรณ์ แต่เพราะมีลูกค้ามาขอโอนกรรมสิทธิ์รถที่ผ่อนหมดแล้วเพื่อแลกกับเงินทุนหนึ่งก้อน จึงเป็นที่มาให้ครอบครัวของเธอเริ่มทำธุรกิจลีสซิ่งด้วยพอร์ตวงเงินให้สินเชื่อเพียง 3 ล้านบาท มีลูกน้อง 5 คน หนึ่งในนั้นคือเธอเอง!
ในสมัยเด็กช่วงมัธยมตอนปลาย คุณธิดาช่วยพ่อแม่ออกไปยึดรถ เพราะในอดีตพนักงานบริษัทยังมีน้อย “นั่งรถไปกับพ่อ ไปเจอรถลูกค้า เราก็ขับรถเรากลับ พ่อขับรถลูกค้ากลับ เราได้เห็นการยึด วิธีการเจรจา มั่นใจว่าถ้าให้ออกไปยึดเองก็ยังยึดได้ ไม่น่าลืม“
คุณธิดาเล่าการเติบโตของบริษัทว่า ธุรกิจเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขยายสาขาด้วยเงินทุนที่ขอกู้จากธนาคารสีต่างๆ ก่อนเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงปี 2552 และก้าวเข้าสู่ลีสซิ่งมืออาชีพอย่างเต็มตัว เมื่อครอบครัวแก้วบุตตาตัดสินใจนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในเดือนพฤษภาคม 2557 ขายหุ้นไอพีโอ 250 ล้านหุ้น ระดมทุนได้ 1,725 ล้านบาท สาขาเพิ่มจาก 258 สาขาในปี 2554 เป็น 1,000 สาขาในปี 2557
พอร์ตสินเชื่อขยับแตะ 7,000 ล้านบาท สินทรัพย์ที่ใช้ค้ำประกัน กระจายความเสี่ยง ครอบคลุมตั้งแต่รถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถกระบะ รองลงมาคือจักรยานยนต์ใช้แล้ว รถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์ อสังหาริมทรัพย์ รถจักรยายนต์ใหม่ ที่ดิน และยานพาหนะอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันอยู่ในพอร์ตด้วย
“เราอยากเป็นเซเว่นอีเลฟเว่นทางการเงิน กระจายตัวอยู่ทุกชุมชน ทำตัวเหมือนเพื่อนสนิท ถ้าลูกค้าเดือดร้อนเรื่องเงินมาหาเรา เราช่วยได้ มีทางออกทางแก้ไขให้ปัญหาติดขัด เช่น ไม่มีเงินจ่าย มาบอก บริษัทยินดียืดหยุ่นให้ เพราะรู้ดีว่ารถที่เขาเอามาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน หากถูกยึดไปจะไม่มีเครื่องมือทำมาหากิน แค่อยากให้ลูกค้าทำตามขั้นตอนที่ตกลงกันมาตั้งแต่ต้น แต่สุดท้ายถ้าเกิดเหตุสุดวิสัยก็บอกเรา เราไม่ได้หน้าเลือดขนาดนั้น หากสามเดือนยังไม่มีเงินมาจ่าย จะมาจ่ายเดือนที่สี่เราก็รอ“
จากวิธีการทำงานของบริษัท จึงเป็นที่มาของกลยุทธ์สร้างแบรนด์ให้จดจำง่าย อารมณ์ดี เป็นมิตรกับลูกค้า ในแนวคิด “แบงก์ไม่เอา เราให้” ที่เชื่อว่าเป็นคำพูดที่ตอบโจทย์การทำงานของศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ฯมากที่สุด
จากวิธีคิดแนวทางการบริหารและไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตส่วนตัวที่เป็นหนึ่งเดียวกับงาน เธอจึงเป็นหนึ่งในทำเนียบผู้บริหารงานรุ่นใหม่ที่มาแรงและน่าจับตามองอีกคนหนึ่งก็ว่าได้

ที่มา: มติชนรายวัน11 มกราคม พ.ศ. 2558 หน้า 5
คอลัมน์ เฉลียงไอเดีย โดย สุธิษา สิงห์ทอง