สำหรับคนที่ผ่อนบ้าน เมื่อพ้นช่วง 3 ปีแรก ดอกเบี้ยจากคงที่ก็ปรับตัวสูงขึ้น และอัตราผ่อนต่อเดือนก็สูงขึ้น ทำให้หลายคนตัดสินใจที่จะรีไฟแนนซ์บ้าน เพื่อลดอัตราดอกเบี้ยลง แต่นอกจากการรีไฟแนนซ์แล้วยังมีการขอลดดอกเบี้ย หรือรีเทนชัน มาดูกันดีกว่าว่าสองอย่างนี้ต่างกันอย่างไร และเราเหมาะกับแบบไหนกัน
ผ่อนบ้านครบ 3 ปี รีไฟแนนซ์บ้านหรือรีเทนชันดอกเบี้ยดี?
รีไฟแนนซ์บ้านคืออะไร และมีข้อดีอย่างไร
เราคงจะได้ยินคำแนะนำ รวมถึงคำกล่าวที่ว่า “บ้านผ่อนครบ 3 ปีต้องรีไฟแนนซ์” เพราะไม่เช่นนั้นเราจะต้องจ่ายดอกเบี้ยบ้านจำนวนมหาศาล และผ่อนแทบตายก็ไม่หมดเสียที แต่เรารู้ไหมว่าการรีไฟแนนซ์บ้านคืออะไร และมีข้อดีอย่างไรบ้าง
การรีไฟแนนซ์บ้าน คือ การยื่นขอสินเชื่อบ้านกับธนาคารใหม่ หลังจากที่อัตราดอกเบี้ยเปลี่ยนจากคงที่เป็นลอยตัว ทำให้อัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น และจำนวนเงินที่ผ่อนบ้านในแต่ละเดือนสูงขึ้นตามไปด้วย ทำให้หลายคนแบกรับภาระไม่ไหว ต้องทำงานเพื่อหาเงินเพิ่มมากขึ้น เพื่อตัดเงินต้นจำนวนเท่าเดิม หลายคนจึงแนะนำให้รีไฟแนนซ์บ้านเพื่อลดภาระดังกล่าวนั่นเอง
สำหรับอัตราดอกเบี้ยลอยตัว (Floating Rate) ของดอกเบี้ยบ้าน จะอ้างอิงจาก MRR โดยสามารถขึ้นลงได้จากต้นทุนของธนาคาร โดยทางธนาคารจะกำหนดเอาไว้ว่าดอกเบี้ยบ้านของเราจะลบออกจาก MRR เท่าไร เช่น ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR – 1.50% หาก MRR ของธนาคารเท่ากับ 6.5% แปลว่าเราจะต้องเสียอัตราดอกเบี้ยเท่ากับ 5% มากกว่าเดิมที่อาจจะเสียอัตราดอกเบี้ย 3% เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การรีไฟแนนซ์บ้าน เราจะต้องตรวจสอบเงื่อนไขการขอเงินสินเชื่อที่ธนาคารเดิมให้ละเอียด เนื่องจากบางธนาคารอาจจะกำหนดให้เราต้องผ่อนต่อจนครบ 4 ปีก่อน ไม่เช่นนั้นจะต้องเสียค่าปรับในการปิดบัญชีก่อนกำหนด การรีไฟแนนซ์บ้านก็อาจจะไม่คุ้มค่าอย่างที่คิด
ข้อดีของการรีไฟแนนซ์บ้าน
- ได้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ซึ่งธนาคารอาจจะกำหนดเอาไว้ว่าปีที่ 1-2 มีอัตราดอกเบี้ย 2% และปีที่ 3 อัตราดอกเบี้ย 3.5% เป็นต้น
- สามารถเลือกโปรโมชันได้หลากหลายธนาคาร ไม่ว่าจะเป็นค่าโอนกรรมสิทธิ์ฟรี ดอกเบี้ยที่ราคาถูกกว่าธนาคารเดิม
ข้อจำกัดของการรีไฟแนนซ์บ้าน
- ต้องเตรียมเอกสารใหม่ทั้งหมด เหมือนกับการยื่นขอซื้อบ้านใหม่ ทางธนาคารจะต้องมีการประเมินบ้าน ยื่นเอกสารส่วนบุคคล เอกสารแสดงรายได้ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
- เสียค่าธรรมเนียมในการโอนกรรมสิทธิ์ใหม่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียมการจัดสินเชื่อ ค่าจดจำนอง ค่าประเมินหลักประกัน ค่าประกันอัคคีภัย ค่าอากรแสตมป์ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีกมากมาย ยิ่งวงเงินกู้และมูลค่าบ้านสูง ก็ยิ่งต้องจ่ายค่าธรรมเนียมสูงตามไปด้วย
รีเทนชันคืออะไร และมีข้อดีอย่างไร
นอกจากการรีไฟแนนซ์ อีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดอัตราดอกเบี้ยบ้านก็คือ การขอรีเทนชันกับธนาคารเดิม
การรีเทนชันอัตราดอกเบี้ยบ้าน (Retention) คือ การยื่นขอลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน ซึ่งเป็นสัญญาเดิม กับธนาคารเดิม โดยทางธนาคารจะยื่นข้อเสนออัตราดอกเบี้ยใหม่ ซึ่งลดลงจากอัตราดอกเบี้ยลอยตัว แต่อาจจะไม่ถึงกับเป็นอัตราดอกเบี้ยใน 3 ปีแรก
ข้อดีของการรีเทนชันดอกเบี้ยบ้าน
- รวดเร็ว ไม่ยุ่งยาก สามารถกรอกเอกสารเพียงใบเดียว ก็สามารถทำเรื่องยื่นขออัตราดอกเบี้ยใหม่ได้เลย อนุมัติค่อนข้างไว
- ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมจุกจิก ซึ่งบางครั้งเราอาจจะต้องเสียค่าธรรมเนียมหลักแสนในการรีไฟแนนซ์บ้าน
ข้อจำกัดของการรีเทนชันดอกเบี้ยบ้าน
- อัตราดอกเบี้ยที่ลดจะไม่ต่ำเท่ากับการรีไฟแนนซ์
รีไฟแนนซ์กับรีเทนชันบ้านเลือกแบบไหนดี
ทั้งรีไฟแนนซ์บ้านและรีเทนชันบ้านต่างมีข้อดีและข้อจำกัดกันคนละแบบ ซึ่งเราจะเลือกแบบไหนดี ขึ้นอยู่กับว่าแบบไหนช่วยให้เราจ่ายเงินน้อยลงกว่าเดิม และสะดวกกับเรามากกว่ากัน ดังนั้นสิ่งที่เราต้องทำก็คือ ลองขอโปรโมชันจากทางธนาคารใหม่ และขอรีเทนชันจากธนาคารเดิม จากนั้นเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยทั้งสองธนาคาร รวมถึงคำนวณออกมาเป็นจำนวนเงินในระยะ 3 ปี
นอกจากนี้ ให้เราถามค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่ต้องเสียจากธนาคารใหม่ให้ครบถ้วน แล้วนำเงินจำนวนดังกล่าวใส่เป็นค่าใช้จ่ายทั้งหมด แล้วเปรียบเทียบว่า การรีไฟแนนซ์บ้านหรือรีเทนชัน แบบไหนคุ้มค่ากว่ากัน คำตอบของแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน เพราะปัจจัยทั้งราคาบ้าน และโปรโมชันจากทางธนาคารที่แตกต่างกันนั่นเอง
สำหรับใครที่ผ่อนบ้านหมด แต่หากว่าต้องการเงินก้อนใหญ่ ไม่ต้องคิดเรื่องรีไฟแนนซ์หรือรีเทนชัน เลือกสินเชื่อบ้านแลกเงินของศรีสวัสดิ์ อนุมัติไว รับเงินเร็ว ช่วยสร้างโอกาส และลงทุนต่อยอดธุรกิจ ไม่ต้องจดจำนอง ผ่อนสบาย เลือกแผนการผ่อนชำระได้ตามต้องการ
ปรึกษาได้เลยที่ศรีสวัสดิ์ เงินสดทันใจ กว่า 5,500 สาขาทั่วไทยหรือโทร 1652 หรือ LINE Official @srisawad
ข้อมูลอ้างอิง
- ดอกเบี้ยลอยตัว ส่งผลกระทบอย่างไรกับคนซื้อบ้าน? พร้อมอัปเดตดอกเบี้ย 10 ธนาคาร เดือนกรกฎาคม 2565. สืบค้นเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 จาก https://thinkofliving.com/คู่มือซื้อขาย/ดอกเบี้ยลอยตัว-ส่งผลกระทบอย่างไรกับคนซื้อบ้าน-พร้อมอัปเดตดอกเบี้ย-10-ธนาคาร-เดือนกรกฎาคม-2565-811443/