เข้าหน้าฝนแล้ว อันตรายที่อาจเกิดกับบ้านในช่วงฝนตกแบบนี้ มีทั้งลมฝน ฟ้าผ่า และบางพื้นที่ยังมีลูกเห็บตก ทำให้เกิดปัญหาบ้านพัง หลายคนต้องมาซ่อมบ้านอย่างทุลักทุเล แต่จะดีกว่าไหม หากว่าเราปรับปรุงบ้านให้แข็งแรง ก่อนที่พายุจะเข้า เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น
ในบทความนี้จึงมาแนะนำวิธีการสำรวจและรีโนเวทบ้านเพื่อพร้อมรับมือกับพายุฝน มีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย
1. สำรวจการรั่วซึมของหลังคา ฝ้า ผนัง
คงไม่สนุกแน่ หากว่าเราต้องเช็ดน้ำฝนที่รั่วเข้ามาในบ้าน และคงไม่ตลกเหมือนกับในภาพยนตร์ หากว่าเราต้องเอากะละมังมารองน้ำจากหลังคาที่รั่ว แล้วฟังเสียงฝนตกกระทบทั้งคืน เพราะนอกจากจะไม่ปลอดภัยแล้ว ยังอาจจะทำให้นอนหลับไม่สนิทอีกด้วย
ดังนั้น ก่อนที่พายุจะมา แนะนำให้สำรวจรอยรั่ว รอยร้าวบริเวณหลังคา ฝ้า และผนังให้เรียบร้อย หากพบรอยแตกร้าวหรือคราบน้ำ ให้ทำการซ่อมแซมให้เรียบร้อย หากเป็นรอยรั่วเล็ก ๆ น้อย ๆ อาจจะใช้ผลิตภัณฑ์ปิดรอยร้าวและสีทากันรั่วซึม แต่หากว่าเป็นรอยแตกหรือรอยร้าวที่ยากเกินแก้ไข แนะนำให้จ้างช่างที่มีความเชี่ยวชาญจะดีกว่า
ค่าใช้จ่ายในการแก้ปัญหาหลังคารั่วซึม
ขึ้นอยู่กับวัสดุที่คุณใช้ทำหลังคา ค่าส่วนที่ทำโครง หรือส่วนประกอบอื่น ๆ
- ค่าแรงช่างมุงหลังคา : ราคา 120 – 500 บาท/ตารางเมตร
- ค่าแรงช่างซ่อมหลังคา : ราคา ราคา 150 -500 บาท/ตารางเมตร
- ค่าแรงช่างรื้อถอนหลังคา : ราคา 20 – 35 บาท/ตารางเมตร
- บริการตรวจสอบปัญหาหลังคารั่ว ประมาณ 1,000 – 2,000 บาทต่อครั้ง
- โพลียูรีเทน เป็นผลิตภัณฑ์เคลือบกันน้ำ ทากันรั่วซึม เริ่มต้นกระป๋องละ 120 บาท
อ้างอิงข้อมูลค่าใช้จ่ายจาก: baanlaesuan
2. ทำความสะอาดรางน้ำฝน และท่อระบายน้ำ
สิ่งที่ทำได้ทันที และเป็นสิ่งที่หลายคนมองข้ามคือ การทำความสะอาดรางน้ำฝนและท่อระบายน้ำรอบบ้าน
บริเวณรางน้ำฝนและในท่อระบายน้ำ มักจะมีเศษใบไม้และกิ่งไม้เข้าไปสะสมอยู่ ทำให้ระบายน้ำไม่ได้ดีเท่าที่ควร และหากว่าฝนตกฟ้าคะนองหนัก ๆ อาจจะทำให้ระบายน้ำไม่ทัน น้ำเอ่อล้น และทำให้รั่วซึมเข้ามาภายในบ้านได้ ด้วยเหตุนี้ จึงควรทำความสะอาดรางน้ำฝนและเก็บเศษใบไม้บริเวณท่อระบายน้ำ เพื่อลดปัญหาน้ำรอระบาย
ค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาดรางน้ำฝนและท่อระบายน้ำ
ขึ้นอยู่กับความยาวของรางน้ำฝน และ สิ่งสกปรกที่เข้าไปอุดตัน ประมาณ 2,000-4,000 บาท
อ้างอิงข้อมูลค่าใช้จ่ายจาก: pantip
3. สำรวจต้นไม้ใหญ่รอบบ้าน
พายุฤดูร้อนเป็นพายุที่มีลมแรง และสามารถสร้างความเสียหายต่อบ้าน พืชผลทางการเกษตร ไปจนถึงต้นไม้ใหญ่เสียหายได้ ไม่ว่าจะเป็นกิ่งไม้หัก หรือต้นไม้หักโค่นเพราะแรงลม
ดังนั้น ก่อนที่พายุฤดูร้อนจะเดินทางมา ให้สำรวจต้นไม้ใหญ่รอบบ้านให้ดีว่ารากยึดติดแน่น หรือมีความแข็งแรงหรือไม่ หากว่าเป็นไม้ยืนตาย แนะนำให้ถอนทิ้งทันที แต่หากว่าเป็นต้นไม้ที่เพิ่งลงใหม่ รากยังไม่แข็งแรง ให้เพิ่มหลักยึดด้วยไม้ค้ำยัน
นอกจากนี้ แนะนำให้ตัดกิ่งไม้ใหญ่ โดยเฉพาะกิ่งที่อยู่ใกล้กับตัวบ้าน เพื่อป้องกันอันตราย จากการหักโค่นทับหลังคาบ้าน หรือส่วนอื่น ๆ ของบ้าน
ค่าใช้จ่ายในการตัดแต่ง ตัดโค่น ขุดย้ายต้นไม้
- ค่าแรงในการตัดแต่ง ตัดโค่น ขุดย้ายต้นไม้ ราคาตั้งแต่ 200 – 4000 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดรอบโคนต้นไม้ และสิ่งกีดขวางในกรณีตัดแต่ง
- ค่าใช้จ่ายในการเก็บและขนกิ่งต้นไม้ คิดเป็นระยะทางต่อกิโลเมตร เที่ยวละ 500 – 800 บาท
อ้างอิงข้อมูลค่าใช้จ่ายจาก: ประกาศอัตราค่าธรรมเนียมการให้บริการตัดแต่ง ตัดโค่น ขุดย้ายต้นไม้ของเขตต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานคร
4. สำรวจระบบไฟฟ้าและประปา
ไม่เพียงการสำรวจความแข็งแรงของบ้านเท่านั้นที่สำคัญ แต่การตรวจตราระบบไฟฟ้าและประปาภายในบ้านก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม
ก่อนหน้าที่พายุจะมาถึง ให้ทำการสำรวจระบบไฟฟ้าภายในบ้านให้เรียบร้อยว่า มีบริเวณไหนรั่วซึม หรือเสี่ยงต่อไฟฟ้าลัดวงจรหรือไม่ มีการติดตั้งสายดินเพื่อความปลอดภัยหรือยัง และสำหรับบ้านที่เป็นพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม แนะนำให้ย้ายปลั๊กไฟขึ้นที่สูง และหากต้องทิ้งบ้าน แนะนำให้สับคัตเอาต์ลงเพื่อความปลอดภัย
นอกจากนี้ให้สำรวจระบบประปา และสำรองน้ำเอาไว้ใช้ยามฉุกเฉิน รวมถึงเตรียมสิ่งจำเป็นอื่น ๆ เช่น ข้าวสาร อาหารแห้งต่าง ๆ
ค่าใช้จ่ายกรณีไม่มีสายดินและเครื่องกันไฟฟ้าดูด
- ค่าเปลี่ยนเบรคเกอร์เมนเป็นระบบกันไฟดูดและไฟรั่ว ประมาณ 5,000 บาทต่อตัว
- ค่าติดตั้งเบรคเกอร์ย่อยตามจุดวงจรที่ต้องการ เช่น เครื่องทำน้ำอุ่น และเต้ารับไฟฟ้า ประมาณ 2,000 บาทต่อตัว
อ้างอิงข้อมูลค่าใช้จ่ายจาก: ตรวจบ้าน.com
5. สำรวจเฟอร์นิเจอร์และของรอบบ้าน
บ้านไหนที่มีเฟอร์นิเจอร์สนาม หรือวางของเอาไว้นอกบ้าน ให้เคลื่อนย้ายไปอยู่ในที่ที่ปลอดภัย หรือยึดเฟอร์นิเจอร์เข้ากับหลักยึดให้เรียบร้อย เพื่อให้มั่นใจว่าเวลาที่ลมพายุมาแรง ของจะไม่ลอยปลิวไปสร้างอันตรายให้แก่คนในบ้าน หรือบ้านอื่น
สำหรับสิ่งของที่มีน้ำหนักเบา แนะนำให้เก็บใส่กล่อง แล้วนำไปไว้ในบ้าน หรือจุดที่ปลอดภัยก่อนจะดีกว่า เพราะนอกจากจะปลิวหายได้แล้ว ยังสามารถปลิวใส่คน สัตว์เลี้ยง และตัวบ้าน ลดความเสี่ยงของความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น
6. สำรวจความแข็งแรงของกันสาด
ปัญหาหนึ่งของบ้านที่ติดตั้งกันสาด หรือมีส่วนที่ต่อเติมยื่นออกมาจากตัวบ้านคือ มักจะเกิดการชำรุดเสียหายโดยที่เราไม่รู้ตัว ดังนั้น ให้สำรวจความแข็งแรงของกันสาด หากพบว่ามีส่วนที่เสี่ยงจะหลุด หรือชำรุดเสียหาย ให้ดำเนินการซ่อมแซมให้เรียบร้อย
หากว่าบ้านไหนไม่มีกันสาด แนะนำให้ติดตั้งเพิ่มเติม เพื่อป้องกันฝนสาดเข้ามาภายในตัวบ้านและสร้างความเสียหายได้ นอกจากนี้ ให้สำรวจยาแนวและซิลิโคนรอบ ๆ ตัวบ้าน เพื่อป้องกันการรั่วซึมบริเวณกรอบหน้าต่าง
ค่าใช้จ่ายกรณีติดตั้งกันสาด
- ค่าแรงติดตั้งกันสาดสำเร็จรูป กว้างไม่เกิน 1.2 เมตร ประมาณ 500-700 บาทต่อชุด
- ค่าแรงติดตั้งกันสาดสำเร็จรูป กว้าง 1.21 – 2 เมตร ประมาณ 800-1,000 บาทต่อชุด
- ติดตั้งกันสาดแบบแผ่นเมทัลชีท ราคาสินค้าพร้อมบริการติดตั้ง 2,350 บาท /ตร.ม. – 2800 บาท /ตร.ม. (อาจมีค่าบริการสำรวจหน้างานก่อนติดตั้งเพิ่มเติม และมีขนาดพื้นที่ขั้นต่ำในการรับทำ)
อ้างอิงข้อมูลค่าใช้จ่ายจาก: homepro
7. สำรวจความแข็งแรงของตัวบ้าน
นอกจากที่กล่าวมาทั้งหมดแล้ว แนะนำให้สำรวจโครงสร้างโดยรวมของบ้านว่ามีส่วนไหนชำรุดเสียหาย มีรอยร้าว และในส่วนของผนังบ้าน หน้าต่าง ประตู กระจก มีความแข็งแรงเพียงพอหรือไม่ เพื่อที่ในกรณีที่ต้องเผชิญพายุลมแรง หรือลูกเห็บตกใส่ จะไม่สร้างความเสียหาย หรือพังลงมาแล้วเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน
ผู้ที่สำรวจบ้านแล้ว มีบางส่วนที่ต้องซ่อมแซม หรือต้องรีโนเวทบ้านใหม่ให้แข็งแรงยิ่งขึ้น แล้วต้องการเงินก้อนมารีโนเวทบ้าน เพื่อให้พร้อมรับมือกับพายุฝน สามารถขอสินเชื่อบ้าน จาก “ศรีสวัสดิ์ เงินสดทันใจ” ด้วยอัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 1.25% ต่อเดือน ระยะเวลาผ่อน 12 งวด หากสนใจสามารถปรึกษากับเจ้าหน้าที่ของศรีสวัสดิ์ เงินสดทันใจ กว่า 5,500 สาขาใกล้บ้านคุณ หรือลองโทรศัพท์มาสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เบอร์ 1652 หรือ LINE Official @srisawad
*กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว
*เงื่อนไขอนุมัติสินเชื่อเป็นไปตามที่บริษัทฯ กำหนด