การขับขี่รถจักรยานยนต์บนท้องถนนมาพร้อมกับความเสี่ยงที่อาจเกิดอุบัติเหตุได้ทุกเมื่อ พ.ร.บ. รถจักรยานยนต์ คุ้มครองอะไรบ้าง และมีความสำคัญอย่างไรต่อผู้ขับขี่ทุกคน วันนี้ ศรีสวัสดิ์ เงินสดทันใจ จะพาคุณไปทำความเข้าใจกันกว่า การต่อ พ.ร.บ. รถจักรยานยนต์ คุ้มครองอะไรบ้าง เบิกค่าซ่อมรถได้ไหม และมีขั้นตอนดำเนินการยังไงบ้าง
พ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ คืออะไร และทำไมถึงสำคัญ
ก่อนจะเข้าใจว่า พ.ร.บ. รถจักรยานยนต์ คุ้มครองอะไรบ้าง เราควรทำความเข้าใจถึงที่มาและความสำคัญของ
พ.ร.บ. นี้เสียก่อน เพราะเป็นสิ่งที่ผู้ใช้รถจักรยานยนต์ทุกคนจำเป็นต้องมี ตามที่กฎหมายกำหนด
พ.ร.บ.รถจักรยานยนต์คืออะไร
พ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ คือ การประกันภัยภาคบังคับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ที่กำหนดให้รถจักรยานยนต์ทุกคันที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก ต้องทำประกันภัยนี้ก่อนนำไปใช้บนท้องถนน เพื่อเป็นหลักประกันขั้นพื้นฐานให้กับผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนน ไม่ว่าจะเป็นผู้ขับขี่เอง ผู้โดยสาร หรือคู่กรณี ให้ได้รับการชดเชยค่ารักษาพยาบาลและการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น
พ.ร.บ.รถจักรยานยนต์สำคัญอย่างไร
พ.ร.บ. รถจักรยานยนต์ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อผู้ใช้รถใช้ถนน เนื่องจาก
- เป็นประกันภัยขั้นพื้นฐานที่ช่วยคุ้มครองค่าใช้จ่ายเมื่อเกิดอุบัติเหตุ โดยที่ผู้ประสบภัยไม่ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลทั้งหมดเอง
- ให้ความคุ้มครองแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะเป็นผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร คนเดินถนน หรือทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหาย
- การไม่มี พ.ร.บ. รถจักรยานยนต์ หรือมีแต่หมดอายุ จะส่งผลให้มีความผิดตามกฎหมาย มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
- รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดอุบัติเหตุ การมี พ.ร.บ. จึงเป็นการสร้างความมั่นใจและความปลอดภัยในการขับขี่
พ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ เบิกอะไรได้บ้าง
พ.ร.บ. รถจักรยานยนต์ เบิกอะไรได้บ้าง เป็นคำถามที่หลายคนสงสัย ความคุ้มครองของ พ.ร.บ. แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่ ค่าเสียหายเบื้องต้น และค่าสินไหมทดแทน โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. ค่าเสียหายเบื้องต้น (ไม่ต้องพิสูจน์ความผิด)
ค่าเสียหายเบื้องต้นเป็นเงินชดเชยที่จ่ายให้ผู้ประสบภัยทันที โดยไม่ต้องรอพิสูจน์ว่าเป็นฝ่ายถูกหรือฝ่ายผิด ซึ่งค่าสินไหมที่เบิกได้ มีดังนี้
- กรณีบาดเจ็บ : เบิกค่ารักษาพยาบาลตามจริง ไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน
- กรณีเสียชีวิต ทุพพลภาพถาวร หรือสูญเสียอวัยวะ : ได้รับเงินชดเชย 35,000 บาทต่อคน
- กรณีทั้งบาดเจ็บและต่อมาเสียชีวิต : ได้รับเงินชดเชยรวมสูงสุดไม่เกิน 65,000 บาทต่อคน
2. ค่าสินไหมทดแทน (หลังพิสูจน์ว่าเป็นฝ่ายถูก)
เมื่อเกิดอุบัติเหตุและมีการพิสูจน์แล้วว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายถูก ในส่วนของค่าสินไหมทดแทนสำหรับฝ่ายที่ไม่ได้เป็นฝ่ายผิด มีดังนี้
- ค่ารักษาพยาบาล : จ่ายตามจริง ในวงเงินไม่เกิน 80,000 บาทต่อคน
- กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร : ได้รับเงินชดเชย 300,000 บาทต่อคน
3. กรณีสูญเสียอวัยวะ
- สูญเสียนิ้วตั้งแต่หนึ่งข้อขึ้นไป : ได้รับเงินชดเชย 200,000 บาท
- สูญเสียอวัยวะหนึ่งส่วน : ได้รับเงินชดเชย 250,000 บาท
- สูญเสียอวัยวะสองส่วนขึ้นไป : ได้รับเงินชดเชย 300,000 บาท
- กรณีต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล (ผู้ป่วยใน) : ได้รับเงินชดเชยวันละ 200 บาท สูงสุดไม่เกิน 20 วัน
พ.ร.บ. รถจักรยานยนต์เบิกค่าซ่อมรถได้ไหม
คำถามที่มักพบบ่อยคือ พ.ร.บ. รถจักรยานยนต์เบิกค่าซ่อมรถได้ไหม คำตอบคือ ไม่สามารถเบิกได้ เนื่องจาก พ.ร.บ. รถจักรยานยนต์ คุ้มครองเฉพาะความเสียหายต่อชีวิตและร่างกายของผู้ประสบภัยเท่านั้น ไม่ครอบคลุมถึงความเสียหายของทรัพย์สินหรือตัวรถ หากต้องการความคุ้มครองในส่วนนี้ จำเป็นต้องทำประกันภัยรถจักรยานยนต์ภาคสมัครใจเพิ่มเติม
กรณีเกิดอุบัติเหตุแบบไม่มีคู่กรณี พ.ร.บ. รถจักรยานยนต์เบิกอะไรได้บ้าง
ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุโดยไม่มีคู่กรณี เช่น รถล้ม หรือขับชนสิ่งกีดขวาง ผู้ขับขี่และผู้โดยสารสามารถเบิกค่าเสียหายเบื้องต้นได้ทันที โดยไม่ต้องรอพิสูจน์ความผิด ซึ่งมีความครอบคลุม ดังนี้
- ค่ารักษาพยาบาลกรณีบาดเจ็บ วงเงินไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน
- เงินชดเชยกรณีเสียชีวิต ทุพพลภาพ หรือสูญเสียอวัยวะ 35,000 บาทต่อคน
- เงินชดเชยรวมสูงสุดไม่เกิน 65,000 บาทต่อคน กรณีทั้งบาดเจ็บและต่อมาเสียชีวิต
ขั้นตอนการขอเคลมและเบิกค่าใช้จ่ายจาก พ.ร.บ.
เมื่อรู้กันแล้วว่า พ.ร.บ. รถจักรยานยนต์ คุ้มครองอะไรบ้าง และ พ.ร.บ. รถจักรยานยนต์เบิกอะไรได้บ้าง มาดูขั้นตอนการขอเคลมและเบิกค่าใช้จ่ายเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งมีขั้นตอนที่ไม่ซับซ้อนมากนัก แต่ควรดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อให้ได้รับความช่วยเหลือทันท่วงที
เอกสารที่ต้องใช้ในการยื่นเคลม
เอกสารสำคัญที่ต้องเตรียมในการยื่นเคลม พ.ร.บ. รถจักรยานยนต์ ประกอบด้วย
- บัตรประจำตัวประชาชนหรือเอกสารยืนยันตัวตนอื่นๆ ของผู้ประสบภัย
- สำเนา พ.ร.บ. รถจักรยานยนต์ ที่ยังไม่หมดอายุ ณ วันเกิดเหตุ
- ใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาล (กรณีสำรองจ่าย)
- ใบรับรองแพทย์ระบุอาการบาดเจ็บ
- สำเนาบันทึกประจำวันของตำรวจ (กรณีมีคู่กรณี)
เอกสารเพิ่มเติมตามแต่กรณี
- กรณีทุพพลภาพถาวรหรือสูญเสียอวัยวะ: ใบรับรองแพทย์ระบุการสูญเสีย
- กรณีเสียชีวิต: ใบมรณบัตร, สำเนาบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านของทายาท
ขั้นตอนการยื่นเคลมผ่านบริษัทประกัน
ขั้นตอนในการเคลมและเบิกค่าใช้จ่ายจาก พ.ร.บ. รถจักรยานยนต์ มีดังนี้
- นำผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด และแจ้งเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลว่าต้องการใช้สิทธิ์ พ.ร.บ. รถจักรยานยนต์
- แจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อลงบันทึกประจำวัน และให้ตำรวจดำเนินการสอบสวนพิสูจน์ว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายถูกหรือผิด
- รวบรวมเอกสารที่จำเป็นทั้งหมดตามที่ระบุไว้ข้างต้น
- ยื่นเอกสารเพื่อเคลม พ.ร.บ. รถจักรยานยนต์ ได้ที่ช่องทางใดช่องทางหนึ่ง
- บริษัทประกันที่ออก พ.ร.บ. ให้กับรถคันที่เกิดเหตุ
- บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด สาขาใดก็ได้
- โรงพยาบาลที่ให้การรักษา (บางแห่งมีบริการช่วยดำเนินการเคลมให้)
ระยะเวลาในการดำเนินการและรับเงินชดเชย
เมื่อยื่นเอกสารครบถ้วนแล้ว ระยะเวลาในการดำเนินการและรับเงินชดเชยจาก พ.ร.บ. รถจักรยานยนต์ มีดังนี้
- การเบิกค่าเสียหายเบื้องต้น : ต้องยื่นเอกสารภายใน 180 วันนับจากวันเกิดเหตุ และจะได้รับเงินภายใน 7 วันทำการหลังยื่นเอกสารครบถ้วน
- การเบิกค่าสินไหมทดแทน : ต้องรอผลการพิสูจน์จากเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าเป็นฝ่ายถูกหรือผิด และจะได้รับเงินภายใน 15 วันทำการหลังยื่นเอกสารครบถ้วนและมีผลการพิสูจน์ชัดเจน
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ พ.ร.บ.รถจักรยานยนต์
นอกจากเรื่อง พ.ร.บ. รถจักรยานยนต์ คุ้มครองอะไรบ้าง หลายคนยังอาจมีคำถามคาใจอีกมากมายเกี่ยวกับประกันภัยภาคบังคับประเภทนี้ เดี๋ยวเราจะมาตอบข้อสงสัยทั้งหมดให้ทุกคนเอง
ต้องต่อ พ.ร.บ. ทุกปีหรือไม่
เจ้าของรถจักรยานยนต์ต้องต่อ พ.ร.บ. ทุกปี โดยอายุความคุ้มครองของ พ.ร.บ. จะเท่ากับระยะเวลาที่กำหนดในกรมธรรม์ ซึ่งโดยทั่วไปจะมีอายุ 1 ปี และต้องต่ออายุพร้อมกับการต่อทะเบียนและเสียภาษีประจำปี การไม่ต่อ พ.ร.บ. จะมีผลเสียทั้งด้านความคุ้มครอง และความผิดทางกฎหมาย ดังนี้
- เป็นความผิดตามกฎหมาย มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
- หากเกิดอุบัติเหตุ จะไม่ได้รับความคุ้มครองจาก พ.ร.บ. และต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดเอง
- ไม่สามารถต่อทะเบียนรถหรือเสียภาษีประจำปีได้
ขับขี่โดยไม่มี พ.ร.บ. มีโทษอะไรบ้าง
การขับขี่รถจักรยานยนต์โดยไม่มี พ.ร.บ. หรือ พ.ร.บ. หมดอายุ มีโทษตามกฎหมาย ดังนี้
- มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
- หากพ.ร.บ. รถจักรยานยนต์หมดอายุแล้ว แต่ไม่ได้แสดงเครื่องหมาย พ.ร.บ. ที่เห็นได้ชัดเจน มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
- หากเกิดอุบัติเหตุ ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดเอง ไม่ว่าจะเป็นค่ารักษาพยาบาลของตนเองหรือคู่กรณี
- อาจมีความผิดทางแพ่งและอาญาเพิ่มเติม หากเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง
ถ้ามี พ.ร.บ. แต่ไม่มีใบขับขี่ สามารถเคลมได้หรือไม่
สามารถเคลมและเบิกค่าเสียหายจาก พ.ร.บ. ได้ตามปกติ แม้ผู้ขับขี่จะไม่มีใบอนุญาตขับขี่หรือใบขับขี่หมดอายุ เนื่องจาก พ.ร.บ. รถจักรยานยนต์ มุ่งเน้นการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากอุบัติเหตุ ไม่ว่าผู้ขับขี่จะมีใบอนุญาตหรือไม่ก็ตาม
สรุปบทความ พ.ร.บ. รถจักรยานยนต์ คุ้มครองอะไรบ้าง
จะเห็นได้ว่า ความคุ้มครองของ พรบ รถจักรยานยนต์ที่เสียเพียงหลักร้อยต่อปี แต่ได้รับความคุ้มครองกลับมามากมาย โดยที่ไม่ต้องเสียเงินก้อนใหญ่เมื่อเกิดอุบัติเหตุ จึงเป็นเรื่องที่คนมีรถไม่ควรละเลยในการต่อกันเด็ดขาด
ส่วนใครที่มีทั้งรถจักรยานยนต์และรถยนต์ และกำลังมองหาที่ต่อ พ.ร.บ. รถยนต์ หรือประกันภัยรถยนต์ไปพร้อม ๆ กัน ศรีสวัสดิ์ เงินสดทันใจ พร้อมให้บริการประภันรถยนต์ที่พร้อมตอบโจทย์ทุกความต้องการ ไม่ว่าจะเป็นประกันรถยนต์ชั้น 1, ประกันชั้น 2+, ประกันชั้น 3+ ภายใต้หลักการทำงาน “มั่นใจ โปร่งใส และถูกกฎหมาย” จากประสบการณ์กว่า 40 ปี สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศ. ศาลาสีส้มทุกสาขาใกล้บ้านคุณ หรือแอปพลิเคชัน “ศรีสวัสดิ์” มีทีมงานมืออาชีพคอยให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมงผ่านแอปพลิเคชัน หรือเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ www.sawad.co.th หรือจะทักมาคุยกันใน LINE Official: @srisawad ก็ได้ หรือถ้าอยากคุยกับเจ้าหน้าที่โดยตรง โทร. 1652 ได้เลย
หมายเหตุ :
- เงื่อนไขเป็นไปตามที่บริษัทฯ กำหนด
- นายหน้าประกันวินาศภัย : บริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 2014 จำกัด
- เลขที่ใบอนุญาต : ว00011/2561